เทริด

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก เห็นชื่อเรื่องของไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้แล้ว คุณครูลิลลี่ก็ต้องขอบอกว่าจริงๆ คุณครูลิลลี่เคยตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องราวของภาพยนตร์ไทยชื่อแปลกเรื่องนี้มาครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ตอนที่มีข่าวของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาใหม่ๆ แต่เนื่องจากมีกระแสเรื่องโน้นเรื่องนี้แทรกเข้ามาหลายเรื่อง เลยทำให้ยังไม่ได้มีโอกาสหยิบเอาเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้มาเขียนถึงเสียที

แต่ครั้งนี้ไม่พลาดค่ะ เพราะว่าเมื่อไม่กี่วันก่อน ขณะที่ คุณครูลิลลี่กำลังนั่งดูโทรทัศน์เพลินๆ อยู่ที่บ้าน ก็มีข่าวบันเทิงของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยนามรายการ และผู้ดำเนินรายการนะคะ วันนั้นเป็นช่วงของการรายงานอันดับภาพยนตร์ทำเงินประจำสัปดาห์ ผู้ดำเนินรายการก็จะมีการประกาศรายชื่อหนังดีหนังดังว่า แต่ละเรื่องทำรายได้เท่าไรบ้างในสัปดาห์นั้น มาถึงตอนที่จะบอกว่าอันดับที่ 4 เป็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมทางใต้ของประเทศไทยเรา ผู้ดำเนินรายการประกาศอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ภาพยนตร์เรื่องที่ว่าก็คือ ภาพยตร์เรื่อง เทริด แต่ออกเสียงว่า เท-ริด เท่านั้นแหละค่ะ คุณครูลิลลี่ถึงกับสะดุ้งทันทีว่า อ่านแบบนี้ออกอากาศได้อย่างไร ที่สำคัญไม่มีการแก้ไขไม่มีการขออภัยเสียด้วย ทั้งหมดจึงเป็นที่มาให้คุณครูลิลลี่ต้องหยิบเอาเรื่องราวของภาพยนตร์ชื่อแปลกเรื่องนี้มาเขียนถึงในไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้นี่แหละค่ะ

จริงๆ แล้วคำว่า เทริด อ่านว่า เซิด นะคะ ออกเสียงเป็น ซ โซ่ เหมือน ทรุดโทรม ทราย ทราม ทราบ นั่นแหละค่ะ ถ้าลองเปิดเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะพบว่า เทริด เป็นคำนามค่ะ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะรูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงอะไร คุณครูลิลลี่มีคำตอบมาฝากกันค่ะ คำว่า เทริด นอกจากแปลตามพจนานุกรมว่า เครื่องประดับศีรษะรูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้าแล้ว เทริดก็ยังเป็นเครื่องประดับบนศีรษะของคนแสดง “มโนราห์” ด้วย พูดถึง มโนราห์ หรือ โนรา คุณครูลิลลี่เคยพูดถึงไปแล้วในไทยรัฐออนไลน์ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ มีเวลาลองย้อนไปหาอ่านดูนะคะ รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามค่ะ

mSQWlZdCq5b6ZLkvPUvvK63Mr0O1KAVu
กลับมาที่ภาพยนตร์เรื่อง เทริด กันต่อ ว่ากันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ พูดถึงเรื่องราวของความภูมิใจของชาวใต้ในการแสดงศิลปะพื้นบ้านอย่างการแสดงมโนราห์ ผ่านเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ทำอาชีพแสดงมโนราห์มารุ่นต่อรุ่น โดยงานนี้ได้พิเศษจริงๆ ที่ได้นักร้องเลือดเนื้อชาวใต้ตัวจริงเสียงจริงอย่าง พี่เอก-เอกชัย ศรีวิชัย มารับหน้าที่กำกับการแสดง ร่วมกับ ภาคภูมิ วงษ์จินดา และงานนี้ พี่เอก หรือ คุณเอกชัย ก็ยังร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง ร่วมกับนักแสดงอย่าง ไพศาล ขุนหนู, แทมมี่ อัญชลิกา ณ พัทลุง และ วินัย ไกรบุตร

ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะนำเสนอเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีของทางภาคใต้แล้ว ในเรื่องตัวละครหรือนักแสดงทั้งหมด ก็พูดภาษาใต้ทั้งเรื่อง เรียกว่าเป็น ภาพยนตร์ที่รวมเอาศิลปินชาวใต้มารวมกันมากที่สุดก็ว่าได้ โดยงานนี้ผู้กำกับอย่าง เอกชัย ศรีวิชัย เคยกล่าวไว้ว่าตั้งใจอยากจะถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดก องชาวไทยเอาไว้ ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ และสืบทอดกันนั่นเองค่ะ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพลงประกอบที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินบ้างเวลาไปชมภาพยนตร์ แล้วได้ยินการเปิดเพลงนี้เพื่อชักชวนให้เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ส่วนตัวคุณครูลิลลี่ชอบเพลงที่เป็นเพลงแนวพื้นเมืองอยู่แล้ว จึงไปหาฟังแบบชัดๆ ตั้งสมาธิดีๆ ก็พบว่าเพลงๆ นี้ไพเราะ และมีความหมายดีมาก ขับร้องโดยคุณหลวงไก่ ศิลปินใต้ของค่ายอาร์สยาม ชอบประโยคเด็ดที่บอกว่า “ชีวิตดับอย่าให้เทริดหัก คอยปกปักษ์ดุจวิญญาณตน” นี่แหละค่ะ ถ้าทุกคนคิดได้แบบนี้ สิ่งดีๆ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะภาคไหน ศาสนาใด ก็จะอยู่คู่กับประเทศไทยไปนานแสนนานอย่างแน่นอน สวัสดีค่ะ

ที่มาภาพ – www.facebook.com/Serd2559

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *