มโนราห์ โนห์รา

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รักและคิดถึง สองสัปดาห์ก่อนเพิ่งเขียนถึงละครเรื่องนางทาสไป มาถึงไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ก็ว่าด้วยเรื่องราวของละครอีกครั้ง แต่คราวนี้ย้ายวิกค่ะ จากน้อยสีมาเป็นวิกมากสีขึ้นมาหน่อย ล่าสุดที่เคยเขียนถึงน่าจะเป็นเรื่องเพื่อนแพงเมื่อหลายเดือนก่อน คราวนี้ขอกลับมากับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่าด้วยเรื่องของละครดังจากฝั่งหมอชิตสักเรื่องนะคะ ละครเรื่องที่ว่าก็คือละครเรื่อง โนห์รา นั่นเองค่ะ

ไม่แน่ใจว่ากว่าต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ฉบับนี้เสร็จออกมาจะอวสานจบลงไปหรือยังนะคะ แต่แว่วว่าสนุกสนานเข้มข้นตลอดทั้งเรื่องเลยทีเดียวค่ะ ที่ต้องหยิบเอาละครเรื่องนี้มาพูดถึงก็เพราะว่า ส่วนหนึ่งคือความสับสนของชื่อละครค่ะ ขนาดไปกดหาข้อมูลในคอมพิวเตอร์ยังขึ้นมาทั้ง โนห์รา และโนราห์ เรียกว่า ห หีบ อยู่ทั้งตรงกลางและอยู่ข้างท้ายให้เราสับสนงงงวยกันไปหมด แถมยังมีคนสงสัยอีกว่า แล้ว โนห์รา หรือ โนราห์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับ มโนราห์ และ มโนห์รา เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้นี่แหละค่ะ

ละครโทรทัศน์เรื่อง โนห์รา เคยสร้างเป็นละครมาแล้วหนึ่งครั้งนะคะ เมื่อปี พ.ศ.2544 เมื่อ 15 ปีมาแล้ว ครั้งนั้นนำแสดงโดย เขตต์ ฐานทัพ นุ่น วรนุช ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ และ รชนีกร พันธุ์มณี กลับมาในปีนี้ที่ช่อง 7 สีนำมาปัดฝุ่นสร้างใหม่อีกครั้งก็ได้คู่ขวัญที่กำลังดังของช่อง 7 อย่าง ไมค์ ภัทรเดช โบว์ เมลดา เอก รังสิโรจน์ และ นก อุษณีย์ มารับบทนำค่ะ พูดถึงโนห์รา คนก็จะมีข้อสงสัยว่า โนห์รา ต่างกับ มโนราห์ หรือ มโนห์รา อย่างไร มาดูกันตรงนี้ค่ะ

mSQWlZdCq5b6ZLkvP7LWl5GQopMRCGBz

มโนราห์ หรือ มโนห์รา หรือเรียกโดยย่อว่า โนห์รา หรือ โนรา เป็นชื่อศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ทับคู่ ฉิ่ง โหม่ง ปี่นอก หรือ ปี่ใน และกรับ ปัจจุบันพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมด้วย เดิมนิยมใช้ผู้ชายล้วนแสดง แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าไปแสดงด้วยค่ะ

ทีนี้เราไปดูความหมายแบบละเอียดๆ เลยนะคะ มโนราห์ เป็นคำนามนะคะ ถ้าเปิดในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มล่าสุดจะระบุความหมายไว้ว่า หมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี บ้างก็เรียกว่า โนรา หรือ อาจจะเขียนเป็น มโนห์รา ก็ได้เช่นกันค่ะ ซึ่งถ้าเราไปเปิดในพจนานุกรมคำว่า โนรา ก็จะพบว่าเป็นคำนามค่ะ มีความหมายอย่างเดียวกันว่า ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำเดียวกับละครชาตรี เรียกว่า มโนราห์ ก็ได้เช่นกันค่ะ (เปิดพจนานุกรมก็มีนะคะ ที่ มโนราห์ แล้ว ห หีบไปอยู่ด้านหลังแบบนี้)

แถมความรู้เพิ่มเติมในส่วนของละครชาตรีที่พูดถึงกันนั้น ละครชาตรีเป็นละครต้นแบบของละครรำที่เดิมเล่นกันเป็นพื้นบ้านทั่วไปในภาคใต้ค่ะ มีทำนองเพลงร้องเป็นการเฉพาะ ใช้ตัวละครน้อย เดิมเป็นชายล้วน ตัวนายโรงจะแต่งตัวยืนเครื่องเสมอ ตัวละครไม่สำคัญไม่แต่งตัวยืนเครื่อง ด้านกระบวนการรำก็ไม่สู้ประณีตนัก (แถมอีกค่ะ คำว่าประณีต ต้องสะกดด้วย ณ เณร นะคะ เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ละเอียดลออ เรียบร้อยงดงาม เช่น ฝีมือประณีต ทำอย่างประณีต เป็นต้น โบนัสพิเศษให้อีกหนึ่งต่อ คือคำว่า ลออ ที่เขียนไว้ข้างต้น คำว่า ลออ ก็ต้องสะกดตามนี้นะคะ ลออ ไม่มี สระอะ ค่ะ ลออ เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า งาม ค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาจะเขียน นวลลออ หรือ เอี่ยมลออ ก็ต้องเขียนแบบนี้ แบบที่ไม่มีสระอะ นะคะ) ได้ความรู้ภาษาไทยไปจากละครกันแล้ว ก็ดูละครกันให้สนุกนะคะ แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *